นักเศรษฐศาสตร์ ห่วงดอกเบี้ยไทย-สหรัฐห่างมาก

“แบงก์ชาติ” เกาะติดค่าเงินบาท หลัง “เฟด” ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ทำส่วนต่างยิ่งถ่างมากขึ้น แต่ย้ำยังไม่พบเงินไหลออกผิดปกติ

เป็นไปตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์เอาไว้ โดยธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) มีมติขึ้นดอกเบี้่ยนโยบายที่ 0.75% เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยเฟดปรับขึ้นมาอยู่ระดับ 3.75-4% เป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี

เศรษฐศาสตร์

การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลงง่ายๆ โดย เจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ย้ำชัดว่า ภารกิจของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่เสร็จสิ้น เพราะเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่สูงมาก

นอกจากนี้ พาวเวล ยังกล่าวย้ำชัดเจนว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสเลี่ยงภาวะถดถอยในช่วงที่ดอกเบี้ยกำลังปรับเพิ่มขึ้น แต่โอกาสการชะลอตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือ ซอฟท์แลนดิ้ง ดูจะมีน้อยลง ซึ่งเป็นผลจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ชะลอลงอย่างเชื่องช้า ดังนั้นเฟดยังมีความจำเป็นที่ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

สัญญาณที่ส่งออกมาจาก เฟด ทำให้ตลาดเงินเริ่มตีความว่า เฟด น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยจนไปแตะระดับที่ไม่น้อยกว่า 5% ส่งผลต่อเงินดอลลาร์ที่กลับมาแข็งค่า และทำให้เงินสกุลต่างๆ อ่อนค่าลง รวมถึงเงินบาทไทยด้วย โดยเมื่อวานนี้(3พ.ย.) เงินบาทปิดตลาดที่ 38.03 บาท อ่อนค่าลงราว 0.74% จากราคาปิดวันก่อนหน้า

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การตัดสินนโยบายล่าสุดของเฟด และการสื่อสารเกี่ยวกับแนวนโยบายในอนาคตเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดไว้ โดยขณะนี้ เฟดมุ่งมั่นที่จะดูแลเงินเฟ้ออย่างเต็มที่ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะยาว

ทั้งนี้ หลังการประชุมอาจเห็นความผันผวนระยะสั้นในตลาดการเงินโลกและไทยบ้าง ซึ่ง ธปท. ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด

ในส่วนของการดำเนินนโยบายของไทยในระยะต่อไป เธอกล่าวว่า ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับบริบทของไทยเช่นกัน ทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน โดยการดำเนินนโยบายจะมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์และให้ทันกาล ตามที่ กนง. ได้สื่อสารมาต่อเนื่อง

ส่วนการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท เทียบดอลลาร์ในวานนี้ ปรับอ่อนค่าลง 0.8% และดัชนีค่าเงินบาท (เทียบสกุลภูมิภาค) ปรับอ่อนลง 0.34% ด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ยังไม่พบสัญญาณผิดปกติ

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 2พ.ย. เงินบาทอ่อนค่าลง 11% โดยถือว่าอ่อนในระดับกลาง ๆ เทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาทอ่อนลงเพียง 0.7% และต่างชาติมีฐานซื้อสุทธิในสินทรัพย์ไทยที่ 1.1 แสนล้านบาท ซื้อในหุ้น 1.6 แสนล้านบาท และขายสุทธิในตลาดพันธบัตรที่ 0.5 แสนล้านบาท

“ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด โดยภาคเอกชนควรบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงินในสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง”