ย้อนกลับไปเมื่อปี 2510 “เบทาโกร” ได้ถือกำเนิดครั้งแรกจากการปลุกปั้นของ “ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์”
เริ่มจากการดำเนินธุรกิจในภาคเกษตรอุตสาหกรรม สร้างรากฐานแข็งแกร่ง ทำให้เบทาโกรแตกแขนงธุรกิจจนครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจเกษตร, ธุรกิจอาหารและโปรตีน, ธุรกิจต่างประเทศ และธุรกิจสัตว์เลี้ยง มีบริษัทในเครือกว่า 30 แห่ง ทำรายได้เฉียดปีละแสนล้านบาท
ปัจจุบันเบทาโกรมุ่งเข้าสู่ปี 55 และได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเปิดการซื้อขายหุ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา “การเงินธนาคาร” สัมภาษณ์พิเศษ “วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เบทาโกร และหัวเรือสำคัญรุ่นที่ 2 ถอด DNA ทรานส์ฟอร์มองค์กรเข้าสู่การเติบโตระดับโกลบอล
วสิษฐ เริ่มต้นบทสนทนาผ่านการฉายภาพรวมธุรกิจว่า เบทาโกรเริ่มต้นจากการทำอาหารสัตว์ ตั้งโรงงานที่พระประแดง จ.สมุทรปราการ ก่อนเวลาต่อมาจะขยับขยายธุรกิจสู่การทำไก่ส่งออกต่างประเทศ
ทว่าด้วยการแข่งขันสูง ทำให้เบทาโกรสร้างจุดต่าง ทรานส์ฟอร์มตนเองมาสู่วงจรการแปรรูปไก่ สุกร โดยโฟกัสการทำแบรนด์จับตลาดผ่านการสร้างโปรดักส์ของบริษัทเอง เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ภายใต้แบรนด์ อาทิ เบทาโกร (Betago) เอสเพียว (S-Pure) ITOHAM บี-ฟู้ดส์
“ก่อนหน้านี้เรามองตัวเองเหมือนบริษัทส่งออกไก่และเกษตร แต่เบทาโกรเชื่อว่าเรามีขีดความสามารถมากกว่านั้น เราจึงหันโฟกัสการสร้างแบรนด์ และช่องทางการจัดจำหน่ายให้แข็งแกร่ง จนเกิดเบทาโกรช็อปมากกว่า 210 แห่ง เบทาโกรเดลี 37 แห่ง Own channel 96 แห่ง และเครือข่ายดิสทริบิวเตอร์ 700-800 แห่ง ตลอดจนโมเดิร์นเทรดโลตัส บิ๊กซี วิลล่ามาร์เก็ต ตลาดสด และการส่งออกต่างประเทศ”
โดยเบทาโกรมีเป้าหมายสำคัญในการเป็น World Branded Company สร้างตราสินค้าบริษัทสู่ระดับโกลบอล เริ่มจากประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง และกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะกัมพูชาและ สปป.ลาว ที่เบทาโกรเปิดเกมรุกอย่างเต็มกำลัง ในการทำตลาดสร้างแบรนด์ดิ้งให้แข็งแกร่ง ด้วยบริษัทเป็นเจ้าตลาดเบอร์ต้นของทั้ง 2 ประเทศนี้ วางไดเรคชั่นคล้ายการทำตลาดในไทย ตั้งแต่เข้าไปทำลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปอาหาร และสร้างดิสทริบิวชั่นในเมืองเสียมเรียบ รองรับการเติบโต
วสิษฐ กล่าวว่า การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ เช่น เบทาโกรส่งออกเนื้อไก่ไปยุโรป เป็นการส่งออกแบบไม่มีแบรนด์ มูลค่าจะน้อยกว่า แต่หากส่งออกในนามแบรนด์ของตนเองจะเพิ่มมูลค่าได้ดีขึ้น ทำให้เบทาโกรตั้งใจพัฒนาสินค้า ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา ในอนาคตจะมีการปรับพอร์ตเพิ่มสินค้าพรีเมียมมากขึ้น
ปัจจุบันพอร์ตสินค้าเบทาโกร แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
1.กลุ่มพรีเมียม : หมวดเกษตร etagro พี-แลค B-Lac, หมวดอาหาร เอสเพียว ITOHAM, หมวดสัตว์เลี้ยง Perfecta
2.กลุ่มแมส : หมวดเกษตร บาลานซ์ FARM, หมวดอาหาร เบทาโกร, หมวดสัตว์เลี้ยง Dog n joy และ Cat n joy
3.กลุ่มไฟท์ติ้ง : หมวดเกษตร มาสเตอร์ Amina, หมวดอาหาร กระต๊าก บีวัน บี-ฟู้ดส์, หมวดสัตว์เลี้ยง Bingo star
ทั้งนี้ จากเป้าหมายการเติบโตยั่งยืนให้ระดับโกลบอล นอกจากยกระดับการผลิตอาหาร นำเทคโนโลยีเสริมคุณภาพระดับสากลแล้ว ทำให้เบทาโกรตัดสินใจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯโดยการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 500 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 40 บาท รวมมูลค่าเสนอขาย 20,000 ล้านบาท
สำหรับเงินลงทุนเบทาโกรมีวัตถุประสงค์นำไปใช้ดังนี้
1.การเข้าซื้อ และ/หรือฟาร์มและโรงงานแห่งใหม่ประมาณ 8,000 ล้านบาท
2.การปรับโครงสร้างเงินทุนผ่านการชำระหนี้สินระยะสั้น และ/หรือระยะยาวให้แก่สถาบันการเงินประมาณ 8,960-10,500 ล้านบาท
3.ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินงาน ไม่เกิน 1,021 ล้านบาท
นอกจากนี้ ภายหลังการระดมทุนจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นในเบทาโกรเปลี่ยนแปลง จากทุนจดทะเบียนเดิม 1,500 ล้านหุ้น โดยตระกูลแต้ไพสิฐพงษ์ถือหุ้นในสัดส่วน 85% และอื่น ๆ อีก 15% มาเป็นทุนจดทะเบียนใหม่ 2,000 ล้านหุ้น สัดส่วนการถือหุ้นของตระกูลลดเหลือ 64-65% ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่ต้องการทรานส์ฟอร์มองค์กรให้มีความเป็นสถาบันมากกว่าธุรกิจครอบครัว แนะนำข่าวเพิ่มเติม>>> บสย. ช่วย SMEs ทีได้รับผลกระทบน้ำท่วม 25 จังหวัด พักค่าธรรมเนียม-ค่างวด นาน 6 เดือน