‘ตรีนุช’ สั่ง สพฐ.-สอศ. ปัดฝุ่นทวิศึกษา หวังเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพ

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ (รปค.) 15 จังหวัดพะเยา

ซึ่งได้จัดการศึกษารูปแบบทวิศึกษาได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ตนจึงอยากจะเห็น การนำระบบทวิศึกษามาทำให้ต่อเนื่อง เพราะจากการได้รับรายงานทราบว่าการจัดทวิศึกษายังไม่มีความต่อเนื่องเป็นรูปธรรม มาหลายปีแล้ว จึงอยากให้ทำในภาพรวมของประเทศ

“ดิฉันได้รับเสียงสะท้อนมาว่าการเรียนการสอนทวิศึกษาเด็กและผู้ปกครองให้ความสนใจ เพราะเป็นการจัดการศึกษา ที่นำอาชีพมาสอนในโรงเรียนสามัญ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้จัดทำหลักสูตรร่วมกัน ซึ่งเด็กที่จบออกมาจะได้ประกาศนียบัตรสองใบ คือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)และได้รับวุฒิการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายด้วย”น.ส.ตรีนุช กล่าว

การศึกษา.jpg3

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนรูปแบบทวิศึกษา เป็นความร่วมมือระหว่าง สพฐ.กับ สอศ. ที่เคยจัดมาแล้ว แต่ก็ได้เว้นช่วงไป ตอนนี้จะฟื้นขึ้นมาใหม่ โดยจัดในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ คู่กับวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่อยู่ใกล้เคียง และโรงเรียนมัธยมศึกษาเดิมที่เคยจัดแล้ว ร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่อยู่ใกล้เคียง โดยขณะนี้ มีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ สมัครร่วมโครงการแล้ว 30 กว่าแห่ง ซึ่งการที่เราฟื้นความร่วมมือนี้ขึ้นมา จะทำให้เด็กโดยเฉพาะเด็กในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ซึ่งเป็นเด็กด้อยโอกาส จะได้เรียนทั้งสายสามัญ และสายอาชีพ สามารถทำงานได้ และได้วุฒิการศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีพ เป็นการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ที่ต้องการให้เด็กเรียนสายอาชีพเพิ่มมากขึ้น

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการปรับการเรียนรูปแบบทวิศึกษา ไปเป็นห้องเรียนอาชีพ ซึ่งไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน เนื่องจาก ถึงแม้เด็กจะได้เรียนทั้งสายสามัญ และสายอาชีพ แต่ในส่วนของสายอาชีพนั้น เด็กจะได้แค่หน่วยกิตสะสม แต่จะไม่ได้วุฒิสายอาชีพ จึงทำให้เด็กไม่สนใจ และโครงการไม่ประสบความสำเร็จ จึงจำเป็นต้องกลับมาฟื้นทวิศึกษา เพื่อให้เด็กที่เรียนแล้วได้ทั้งอาชีพและวุฒิการศึกษา” นายอัมพร กล่าวด้านว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) กล่าวว่า สพฐ.และ สอศ. ได้ตั้งคณะทำงานที่จะมาจัดทวิศึกษาร่วมกันเรียบร้อยแล้ว โดยจะเริ่มตั้งแต่ภาคเรียนที่1 / 2566 โดยจะนำร่องที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทั่วประเทศให้เต็มรูปแบบก่อนลงก่อน ส่วนโรงเรียนที่จัดอยู่แล้วก็จะไปทำให้ต่อเนื่อง แต่จะไม่เน้นจัดทวิศึกษากับโรงเรียนที่อยู่ในเมือง แต่จะเน้นในพื้นที่ห่างไกลที่อยู่ตามรอบนอกเพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพให้กับเด็ก